Wednesday, July 2, 2008

Karma: The Secret to Finding Happiness with Buddha

กรรม: ปริศนาหนทางสู่ความสุขแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


เล่าสู่กันฟัง

ข้าพเจ้าเป็นคนไทย เกิดที่เมืองไทย เป็นความโชคดีของข้าพเจ้าเป็นอย่างมากที่ได้อยู่ในร่มโพธิ์แห่งพระพุทธศาสนาและได้ศึกษาพระพุทธศาสนาในห้องเรียนตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กที่ยังไม่รู้ประสา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีมากมาย สุขุมลึกซึ้งคัมภีรภาพ และ ยากแก่การเข้าใจ ตอนนี้ข้าพเจ้าเข้าใจในพระพุทธศาสนาในระดับหนึ่งและอยากอธิบายให้ผู้อื่นได้เข้าใจในสิ่งที่ข้าพเจ้าเข้าใจในรูปแบบที่ข้าพเจ้าเข้าใจ ในภาษาง่ายๆ เหมือนการคุยกัน และเข้าใจไปด้วยกัน หากเกิดการผิดพลาดหรือปรามาส พลาดพลั้งโดยมิได้เจตนา ขอจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าและผู้จัดทำด้วยเทอญ และหากมีสิ่งใดผิดพลาดหรือสิ่งที่ต้องการให้แก้ไข ขอความกรุณาช่วยแจ้งด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

ศาสนาพุทธ หรือ ธรรมะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสตร์แห่งความสุขที่แท้จริงและ ความจริงที่เป็นอมตะ ศาสนาพุทธเป็นศาสตร์แห่งเหตุและผล การคิด การประพฤติปฏิบัติ ที่นำความปิติ ความสุข,ความชื่นบานใจ ความเบิกบานใจทั้งผู้ที่นับถือ และแก่ผู้ที่อยู่รอบๆตัว

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาในพุทธศาสนา สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกได้และรู้อยู่ในใจของข้าพเจ้านั้น คือ พระพุทธเจ้าของเราเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่และมีปัญญามาก เป็นบุคคลที่สามารถมองทะลุสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเราไม่สามารถมองเห็นได้ชัด, แจกแจงให้แจ่มแจ้งชัด, และสามารถแจกแจงได้ถึงรายละเอียดที่ลึกซึ้ง ซึ่งไม่มีผู้ใดมีปัญญาเปรียบเทียบเทียมเสมอเหมือน




ตารางสรุปหัวใจหลักที่สำคัญ (ทางแห่งปัญญา)


กาลามสูตร (จุดเริ่มต้น)

(ลดตัวกูของกู ลดความเชื่อถือว่าสิ่งนั่นถูก สิ่งนี้ถูก จุดเริ่มต้นของการเปิดใจในการเรียนรู้และเข้าใจ)
(เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้)


สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือแกนหัวใจของพระพุทธศาสนาหรือแกนหลักว่าคืออะไรและนำไปใช้อย่างไร
(โอวาทปาติโมกข์ หรือ ไตรสิกขา บวก สติ กับ สัมปชัญญะ)

๑. เว้นจากการทำความชั่ว หรือ ศีล
(ศีลเป็นข้อห้ามพื้นฐานของการกระทำที่ไม่ดี)

๒. ทำความดีให้ถึงพร้อม หรือ การใช้ สมาธิ สติ กับ สัมปชัญญะ พิจารณาอริยสัจ ๔
(ใช้ “สมาธิ” การตั้งมั่นแห่งจิต ความสนใจ, “สติ” ความระลึกได้ นึกรู้ คิดพิจารณา, และ “สัมปชัญญะ” ความรู้สึก ความรู้แจ้ง ในการทำความเข้าใจในการคิดในแง่บวก และ/หรือ อริยสัจ ๔ เพื่อส่งผลต่อการกระทำความดีให้ถึงพร้อม)

๓. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หรือ ปัญญา
(ปัญญาคือผลของการรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงอริยสัจ ๔, รู้วิธีการนำมาปฏิบัติใช้ให้ถึงการดับทุกข์(มรรค ๘) และสามารถนำมาใช้ถึงการดับทุกข์นั้นๆ ได้จริง จิตก็จะสว่างสะอาดบริสุทธิ์)






ก่อนที่จะเชื่อ (ดูก่อน)


ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอแจกแจง กาลามสูตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๑๐ ประการ คือ

๑. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟัง ๆ กันมา
๒. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อ ๆ กันมา
๓. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
๔. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
๕. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเอา
๖. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
๘. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
๙. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
๑๐. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน

(ที่ไม่ให้เชื่อ เพราะสิ่งที่เชื่อมันอาจจะไม่ถูกก็ได้ และการเชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกถือว่าเป็นเรื่องงมงาย)
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนไม่ให้เชื่อใน ตนเอง ใคร หรือ สิ่งใดเลยละ และข้าพเจ้าคิดว่ารวมถึงไม่ให้เชื่อ ในพระพุทธศาสนาด้วย (แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งใดที่เราเชื่อถือได้ละ) ศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นถูกสืบทอดมานานมากกว่า ๒,๕๐๐ ปี หลักคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ถูกถ่ายทอดและแปลเป็นภาษาต่าง ๆ และอาจมีการแปลความหมายที่ผิดเพี้ยนไป, อาจถูกการเวลาและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงลบเลือนเนื้อหาในพระไตรปิฎกไปบ้างหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้, หรือบางทีผู้สืบทอดอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มเติมเนื้อหาในแบบที่ตนคิดว่าถูก แต่อาจจะไม่ถูกลงไปในตำราที่ท่านสอนก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ กาลามสูตร ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ จึงควรเป็นสิ่งเริ่มต้นสิ่งแรกที่ผู้อ่านควรมีไว้ พระพุทธองค์มิได้สอนให้มนุษย์งมงาย โดยเชื่อตนเอง ผู้ใด สิ่งใด หรือแม้กระทั่งพระพุทธศาสนาเอง และสิ่งนี้เองที่ข้าพเจ้าอยากจะบอกท่านผู้อ่านว่าให้คิดตาม โดยให้ใช้เหตุและผลแห่งความจริงตามกาลที่ปรากฏหลังจากที่นำธรรมะในพระพุทธศาสนาหรือสิ่งใดก็ตามไปคิดและปฏิบัติใช้ เมื่อท่านผู้อ่านได้คิดและนำไปปฏิบัติใช้แล้วเกิดผลจริง จึงค่อยเชื่อที่หลัง หรือลองทำซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อเน้นย้ำว่าถูกต้องจริงตามนั้น จึงค่อยเชื่อ ผู้ที่นำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปใช้ จะเห็นผลที่เกิดขึ้นจริงที่ปรากฏตามกาลเวลาเป็นสักขีพยาน (“อะกาลิโก” เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล) เมื่อมันดีและถูก จึงเชื่อ ศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนเป็นวิทยาศาสตร์และสามารถที่จะพิสูจน์ได้ อย่างเช่น การต้มน้ำที่ระดับน้ำทะเล น้ำจะเดือดที่ ๑๐๐ องศาเซลเซียส หรือ ๒๑๒ องศาฟาเรนไฮต์ การทดลองนี้ ไม่ว่าจะทำที่ไหนหรือว่าเมือไหร่ก็ตาม ก็จะได้ผลการทดลองเหมือนกันทุกครั้งไปทั่วโลก

อีกในหนึ่งที่ข้าพเจ้าเข้าใจ กาลามสูตร เป็นสิ่งที่ลดความถือยึดในตัวและตนของเรา “ลดตัวกูของกู” (การที่เราคิดว่าตัวของเราเองคิดถูกเสมอไป) การไม่เป็นคนหูเบาหรือเชื่อสิ่งใดโดยง่าย ทำให้เป็นคนที่มีจิตใจกว้างขวาง ไม่มองสิ่งใดเพียงด้านเดียว และจะเป็นคนที่ยอมรับฟัง เรียนรู้ คิด พินิจ ลองทำตาม และเข้าใจ จากสิ่งต่าง ๆ จากคนต่างๆ รวมถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ที่ฉลาดมีปัญญา กลายเป็นดอกบัวตูมที่อยู่บนผิวน้ำ และพร้อมที่จะแย้มกลีบบานเมื่อต้องแสงยามแรกอรุณ

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์เป็นสัตว์ที่สอนได้ เป็นสัตว์ที่เรียนรู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ เป็นสัตว์ที่มีปัญญามากและมีความทรงจำที่ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในโลก มนุษย์จึงเป็นสัตว์ประเสริฐที่สามารถเรียนรู้และเข้าใจธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ง่ายกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ท่านจงภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นสัตว์ประเสริฐที่เรียกว่ามนุษย์นี้เทอญ



ขอให้ผู้อ่านลองสังเกตบทสวดมนต์ และขอให้คิดตาม

๑ คำนมัสการพระพุทธเจ้า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓จบ) (ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง)

๒ บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา (เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) อะระหัง (เป็นผู้ไกลจากกิเลส) สัมมาสัมพุทโธ (เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง) วิชชาจะระณะสัมปันโน (เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ) สุคะโต (เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี) โลกะวิทู (เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง) อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ (เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า) สัตถาเทวะมนุสสานัง (เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย) พุทโธ (เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม) ภะคะวาติ. (เป็นผู้มีความเจริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้)

๓ บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ

สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม (พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว) สันทิฏฐิโก (เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง) อะกาลิโก (เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล) เอหิปัสสิโก (เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด) โอปะนะยิโก (เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว) ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ. (เป็นสิ่งที่ผู้รู้ พึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ ฯ)

๔ บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว) อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว) ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว) สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว) ยะทิทัง (ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ) จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา (คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ) เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า) อาหุเนยโย (เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา) ปาหุเนยโย (เป็นผู้ควรแก่สักการะที่จัดไว้ต้อนรับ) ทักขิเนยโย (เป็นผู้ควรรับทักษิณา) อัญชะลีกะระนีโย (เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี) อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ. (เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้)


จากบทสวดมนต์ขอกล่าวสรุปโดยย่อ ว่า

๑. (นโม ฯ) เป็นการนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒. (อิติปิโส ฯ) เป็นการบอกว่าพระพุทธองค์เป็นบุคคลที่เก่ง ใจกว้าง และมีปัญญามาก

๓. (สวากขาโต ฯ) เป็นการกล่าวถึงธรรมะที่พระพุทธองค์สอนเป็นของดีควรนำมาใช้ และจะเห็นผลได้จริงเมื่อนำมาปฏิบัติ

๔. (สุปะฏิปันโน ฯ) เป็นการกล่าวถึง พระสงฆ์ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบุคคลที่ดี และ ควรแก่การเคารพสักการะ เป็นบุคคลที่เป็นเนื้อนาบุญ (ปล. นาข้าวมีไว้สำหรับปลูกข้าว นาบุญเป็นที่สำหรับปลูกบุญ หรือหมายความว่าเป็นที่สร้างบุญสร้างกุศลชั้นเลิศ เพราะไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า)

เมื่ออ่านกาลามาสูตรเสร็จแล้ว ก็ต้องเริ่มทำความเข้าใจในข้อ ๓ (ธรรมะของพระพุทธองค์) เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นจริงตามนั้นไหม เพราะจากคำสวดจะบอกว่า พระธรรม ซึ่งเป็นธรรมะของพระพุทธองค์นั้นเป็นของดี และเห็นได้จริงเมื่อนำมาใช้ ให้ผลไม่จำกัดกาล และผู้รู้ก็รู้ได้ด้วยตนเอง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจริง ถ้าไม่ได้นำมาใช้ นี่เป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่าไม่ต้องเชื่อ แต่ให้ลองนำมาใช้ก่อน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงให้ผลดีจริง จึงค่อยเชื่อ และสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญมาก ๆ คือ โอวาทปาติโมกข์ (แกนหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา “แกนหลัก”)





รากแก้ว หรือ แกนหลัก

หลวงปู่ใหญ่ วัดธรรมรงค์สวัสดิ์ อำเภอ ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ สอน ข้าพเจ้าเกี่ยวกับรากแก้ว หรือแก่นของพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นแกนหลัก มี ศีล, สมาธิ, สติ กับ สัมปชัญญะ และ ปัญญา หรือ ไตรสิกขา บวก สติ กับ สัมปชัญญะ ซึ่งสิ่งนี้จากที่ข้าพเข้าได้นำมาวิเคราะห์ และ ปฏิบัติใช้ ข้าพเจ้ามีความเข้าใจว่าแกนหลักนี้ก็คือ โอวาทปาติโมกข์ (ข้อธรรมย่ออันเป็นหลักหรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา) คือไม่ทำบาปทั้งปวง, ทำความดีให้ถึงพร้อม, และทำจิตใจให้ผ่องใส นั่นเอง ข้าพเจ้าขอเทียบเคียงให้ท่านผู้อ่านเข้าใจแบบง่าย ๆ ดังที่ปรากฏนี้

โอวาทปาติโมกข์ = ไตรสิกขา บวก สติ กับ สัมปชัญญะ

๑. ไม่ทำความชั่ว = ๑. ศีล
๒. ทำความดีให้ถึงพร้อม = ๒. สมาธิ สติ กับ สัมปชัญญะ
๓. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส = ๓. ปัญญา

ปล. สิกขา แปลว่า การศึกษา, การปฏิบัติ
ไตร แปลว่า สาม
ปล. ไตรสิกขา ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

ก่อนที่จะโยงความสัมพันธ์ของแกนหลัก ไตรสิกขา บวก สติ กับ สัมปชัญญะ และหรือโอวาทปาติโมกข์ ถึงสิ่งต่าง ๆนั้น ก็ต้องขออธิบายถึงความหมายในแต่ละส่วนของไตรสิกขาบวกสติ กับ สัมปชัญญะ อย่างละเอียดตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจให้ท่านฟังก่อน เพราะไตรสิกขา, สติ กับ สัมปชัญญะ เป็นสิ่งที่มีการอธิบายความหมายกันโดยทั่วไป และง่ายแก่การเข้าใจ หลังจากนั้นข้าพเจ้าจักเริ่มแจกแจง โยงความสัมพันธ์ แสดงความสำคัญ วิธีการนำไปใช้ โดยการยกตัวอย่างและอธิบายประกอบ





ไตรสิกขา บวก สติ กับ สัมปชัญญะ (ศีล สมาธิ สติ กับ สัมปชัญญะ ปัญญา) (รากแก้ว)

๑ ศีล หรือ การไม่ทำความชั่ว

ศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายวาจา ให้ตั้งอยู่ในความดีงาม เป็นข้อปฏิบัติที่ปราศจากโทษ เป็นข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว และเป็นข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น

การมีศีลในความเข้าใจของข้าพเจ้านั้นไม่ยาก ขอเพียงท่านมีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้สึกถึงความรู้สึกของมนุษย์ผู้อื่นแล้วท่านก็จะรู้ว่าเราก็ไม่อยากให้ใครมาทำอะไรที่ไม่ดีกับเรา ศีลจึงเป็นข้อห้ามพื้นฐานที่ไม่ให้มนุษย์ไปสร้างการกระทำที่ไม่ดีต่อมนุษย์ผู้อื่นให้เขารู้สึกไม่ดี และมนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (จะเห็นได้ว่าศาสนาพุทธเริ่มต้นจากการเข้าใจถึงความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งเป็นนามธรรม หรือ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้ด้วยหัวใจ ดังนั้นการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจึงต้องใช้หัวใจในการทำความเข้าใจ และหยั่งเข้าไปให้ลึกที่สุดของหัวใจของเรา และถาม ตรวจสอบด้วยใจ)

ศีลห้า หรือ เบญจศีล เป็นศีลในลำดับเบื้องต้นในพุทธศาสนา และเป็นพื้นฐานที่สำคัญ (ฐานหลักที่สำคัญมาก**) ที่ศาสนิกชนหรือคนทุกคนโดยทั่วไปพึงถือ ศีลห้าจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 'นิจศีล' นั่นคือ ศีลที่ควรยึดถือเป็นนิจ (เป็นประจำ)

ด้วยเหตุนี้ ในพิธีกรรมทั้งปวงในพุทธศาสนา หลังจากกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแล้ว พุทธศาสนิกชน จะอาราธนาศีล และรับศีลห้าก่อนเสมอ


ศีลห้ามีด้วยกัน ๕ ข้อ ดังนี้

๑. (ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปทังสมาทิยามิ) คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รวมถึงการทำร้าย เบียดเบียน หรือพฤติกรรมที่ทำให้สัตว์ หรือ มนุษย์ รู้สึกแย่ รวมถึงการเบียดบังเอาเปรียบผู้อื่น รวมถึงการสั่งให้ผู้อื่นไปฆ่าหรือเบียดเบียนผู้อื่นโดยมีเหตุมาจากเจตนาหรือเจตจำนงที่แย่จากหัวใจ (จะสังเกตได้ว่าศีลข้อนี้เป็นข้อห้ามมนุษย์กระทำความผิดเกี่ยวกับทางกายต่อร่างกายสัตว์หรือมนุษย์ผู้อื่น)

๒. (อทินนาทานา เวรมณี สิกขาปทังสมาทิยามิ) เว้นจากการลักทรัพย์ ฉ้อโกง หรือถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเค้ายังไม่ให้ หรือสิ่งของไม่ได้รับอนุญาตมาเป็นของของตนเอง หรือ การถึงเอาของที่เขาไม่ให้ ไม่ได้รับอนุญาตไปให้ผู้อื่น และรวมถึงการทำลายสิ่งของของผู้อื่นที่เป็นของที่เค้ารัก ที่เค้าหวงแหน (จะสังเกตได้ว่าศีลข้อนี้จะห้ามการกระทำที่ไม่ดีเกี่ยวกับวัตถุหรือสิ่งของของผู้ที่มีเจ้าของไม่ว่าจะเป็นด้วยการ เอามาเป็นของของตน เอามาเพื่อให้แก่ผู้อื่น หรือ การทำลายสิ่งของของผู้อื่น)

๓. (กาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี สิกขาปทังสมาทิยามิ) เว้นจากการพระพฤติผิดในกาม(ผิดลูก ผิดเมีย ผิดผัว) คือ การเว้นจากการประพฤติผิดเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธุ์ เช่น เว้นจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนที่เขามีเจ้าของแล้ว รวมถึงคนที่มีเจ้าของแล้วก็ห้ามไปมีเพศสัมพันธุ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของตนไม่ว่าเค้าจะมีเจ้าของแล้วหรือไม่ตาม(ห้ามนอกใจมีอื่นเพราะจะทำให้คู่ของตนเสียใจ) รวมถึงห้ามไปมีเพศสัมพันธุ์กับผู้ที่ไม่มีเจ้าของแต่ตัวเค้า หรือ พ่อแม่ หรือ ครอบครัว ของเขาไม่ยินยอม (จะสังเกตได้ว่าศีลข้อนี้จะห้ามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธุ์กับบุคคลที่มีเจ้าของ และ กับบุคคลอันเป็นที่รักของบุคคลอื่น)

๔. (มุสาวาทาเวรมณี สิกขาปทังสมาทิยามิ) เว้นจากการพูดโกหก(จงใจกล่าวคําที่ไม่จริง, พูดปด, พูดเท็จ), หยาบคาย(พูดกล่าวคำไม่สุภาพ), ส่อเสียด(การพูดจายุยงให้ผู้อื่นแตกแยกกัน), และ เพ้อเจ้อ( การพล่าม, อาการที่พูดมากในเรื่องที่เหลวไหลไร้สาระ, อาการที่พูดพล่ามจนเสียประโยชน์, อาการที่พูดไม่รู้จักจบ) (จะสังเกตได้ว่าศีลข้อนี้จะห้ามการกระทำที่ไม่ดีเกี่ยวกับคำพูดที่ไม่ดีที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกแย่)

๕. (สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานาเวรมณี สิกขาปทังสมาธิยามิ) เว้นจากการเสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสุรา สิ่งเสพย์ติด สิ่งที่ทำให้มึนเมาต่างๆ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ขาดสติ (จะเห็นได้ว่าศีลข้อนี้จะห้ามการกระทำเกี่ยวกับการเสพสารที่จะทำให้เกิดการขาดสติ) (เมื่อขาดสติ ก็สามารถผิดศีลทั้ง ๔ ข้อ ข้างต้นได้โดยง่ายและอย่างไม่รู้ตัว)
ปล. (การกระทำโดยไม่มีเจตนาจะเป็นกรรมเบา แต่ก็ยังถือว่าเป็นกรรมอยู่)

สรุป จะเห็นได้ว่าศีลห้า เป็นกฎข้อห้ามพื้นฐานของมนุษย์ในการมีชีวิตร่วมอยู่กันอย่างมีความสุข โดยห้ามไม่ให้กระทำกรรม(การกระทำ) ที่ไม่ดีต่อมนุษย์หรือสัตว์ผู้อื่น และ จะสังเกตได้ว่า ศีล ก็คือโอวาทปาติโมกข์ข้อที่ ๑ คือ เว้นจากการทำชั่วนั่นเอง



๒ สมาธิ(ความสนใจ) สติ(ระลึกรู้) กับสัมปชัญญะ(เข้าใจ) หรือ ทำความดีให้ถึงพร้อม

การที่เราจะทำความดีให้ถึงพร้อม(กาย วาจา ใจ)ได้นั้น สมาธิ สติ กับ สัมปชัญญะ เปรียบเหมือนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความดีให้ถึงพร้อม

ข้าพเจ้าขออธิบายความหมายก่อน ก่อนที่อธิบายวิธีการใช้อุปกรณ์หรือว่าการใช้ สมาธิ สติ กับ สัมปชัญญะ ว่าจะนำเข้าไปสู่การทำความดีให้ถึงพร้อม(กาย วาจา ใจ) ได้อย่างไร


๒.๑ สมาธิ ในความหมายของพจนานุกรม แปลว่า ที่ตั้งมั่นแห่งจิต

สมาธิ ในรูปแบบที่ข้าพเจ้าเข้าใจ คือ การที่จิตมีความสนใจ หรือ ให้ความใส่ใจต่อ คน สัตว์ สิ่งของ ความรู้สึก ความนึกคิด หรือสิ่งต่าง ๆ ผ่านทางโสตประสาทสัมผัส รวมถึงใจด้วย และเวลาที่จิตมีความสนใจนั้น จิตก็จะมุ่งไป หรือมีการจดจ่อต่อสิ่งนั้นในขณะที่จิตให้ความสนใจในช่วงเวลา

เพื่อให้เข้าใจความหมายกันอย่างง่าย ๆ เวลาที่เราไม่มีสมาธิ หรือไม่ให้ความสนใจเราก็จะไม่รู้เรื่องในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ในห้องเรียน ถ้าเรามัวคุยอยู่กับเพื่อน ไม่ได้สนใจหรือตั้งใจฟังที่อาจารย์สอน เราก็จะไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องที่อาจารย์สอน เพราะ ความสนใจไม่ได้จดจ่ออยู่ที่อาจารย์ ทำให้ข้อมูลที่อาจารย์สอนไม่เข้าสู่จิต(สมอง)

ดังนั้นสมาธิ, หรือการรวมความสนใจให้อยู่ ณ จุดเดียวนั้นเป็นพื้นฐานของการรวมความคิดให้จดจ่ออยู่ ณ จุดเดียว, ทำให้จิตมีพลัง พลังในที่นี้คือพลังที่ทำให้จิตมีความสามารถในการรับ หรือส่งข้อมูลจากสิ่งต่างๆ เข้าสู่จิตหรือสมอง ดังนั้น สมาธิ จึงเป็นพื้นฐานในการรับรู้ เรียนรู้ และเป็นพื้นฐานเพื่อส่งข้อมูลต่าง ๆ ออกมาสู่ภายนอกได้อย่างถูกต้อง (การโต้ตอบ) บุคคลที่ไม่มีสมาธิก็จะฟังไม่รู้เรื่องและก็จะตอบโต้ไม่ถูก ผลพลอยได้ของสมาธิหรือเมื่อจิตให้ความสนใจ คือ จิตก็จะไม่ฟุ้งซ่าน(คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปทั่ว), จิตก็จะมีความสามารถในการจำได้มากในสิ่งที่สนใจ(ความจำก็จะดี), และจะเกิดความถูกต้อง เฉียบแหลม และแม่นยำมากขึ้นตามมาจากการฝึกฝนใช้สมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ



๒.๒ สติ กับ สัมปชัญญะ

สติ ในความหมายของพจนานุกรม แปลว่า ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, เช่น ได้สติ ฟื้นคืนสติ สิ้นสติ, ความรู้สึกผิดชอบ เช่น มีสติ ไร้สติ, ความระลึกได้ เช่น ตั้งสติ กำหนดสติ

สัมปชัญญะ ในความหมายของพจนานุกรม แปลว่า ความรู้ตัวอยู่เสมอ, ความไม่เผลอตัว, ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ตระหนัก, ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสิ่งที่นึกได้

สติ กับ สัมปชัญญะ ในรูปแบบที่ข้าพเจ้าเข้าใจนั้น สติ คือ ความระลึกรู้ได้ (ความคิด) ส่วน สัมปชัญญะ คือ ความรู้สึกในขณะที่ระลึกรู้ หรือ คิดอยู่ “ความหมายที่ข้าพเจ้าแปลนี้มาจากความเข้าใจในการอ่านหนังสือธรรมะแปลออกไป” ซึ่งทั้งสองมีความต่อเนื่องสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันมาก นั้นคือ ขณะที่เรามีการคิดนั้นเราก็จะมีความรู้สึกกับการคิดของตัวเราเองด้วย ซี่ง การคิดนี้ผู้ที่คิดจะรู้สึกได้ว่าเข้าใจ หรือ ไม่เข้าใจ, สุข หรือ ทุกข์, ดี หรือ ไม่ดี, ชอบ หรือ ไม่ชอบ, เฉยๆ หรือ ไม่เฉย ๆ, ปล่อยวาง หรือ ไม่ปล่อยวาง ฯลฯ

เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ขอยกตัวอย่างต่อเนื่องจากข้างต้น ขณะที่เรามีสมาธิ(การให้ความสนใจ)ในการฟังอาจารย์สอนในห้อง จิตหรือสมองจะรับข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาในจิตหรือสมอง แต่การที่เราจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจเนื้อหาที่อาจารย์สอนได้นั้น เราต้องมีการคิดตาม(สติ) ถามตัวเองและใช้ความรู้สึก(สัมปชัญญะ) ว่าเราเข้าใจไหม เข้าใจอย่างไร หรือไม่เข้าใจ ซึ่งกระบวนการคิดต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่าสติสัมปชัญญะ



วิธีการใช้สมาธิ สติ กับ สัมปชัญญะ (อุปกรณ์ที่เรามีในการคิด)

เราจะต้องนำอุปกรณ์ในที่เรามีในการคิดมาใช้ให้ถูกทาง ถูกวิธี และถูกต้อง เพื่อให้เกิดการทำความดีให้ถึงพร้อม โดยการคิดให้ดี คิดให้ถูก หรือ คือโดยการใช้อริยสัจ ๔(วิธีการในการคิด หรือ วิธีการใช้อุปกรณ์ที่เรามี) ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่า อริยสัจ ๔ นี้ก็คือ “Positive thinking and doing” เพื่อแก้ปัญหาทุกข์

การคิดและการปฏิบัติในแง่บวก หรือ การใช้อริยสัจ ๔

ก่อนอื่นขอแจกแจงว่าอริยสัจ ๔ คืออะไรอย่างคร่าว ๆ อริยสัจ ๔ แยกออกเป็น

๑ ทุกข์ หรือ ปัญหาที่มีไม่ว่าทางใดก็ตาม

๒ สมุทัย หรือ สาเหตุเกิดทุกข์ หรือ สาเหตุของปัญหา

๓ นิโรธ หรือ ความดับทุกข์ หรือ รู้วิธีการแก้ไขปัญหา หรือ การตั้งสมมติฐานในการแก้ไขปัญหาที่คิดว่าใช่วิธีการที่เหมาะสมกับเรา (เราไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีนั้น เหมาะกับกับปัญหาของเราไหมจนกว่าจะลองทำดู “มรรค”)

๔ มรรค หรือ ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือ การนำวิธีการแก้ไขปัญหามาปฏิบัติใช้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา หรือ การทดลองปฏิบัติใช้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา (เป็นการนำสมมติฐานที่คิดได้ “นิโรธ” มาทดลองใช้) “ที่ทดลองเพราะยังไม่รู้ว่าเป็นวิธีที่ใช่ของเราไหม” และ มรรค ยังประกอบขึ้นด้วยกัน ๘ ข้อ ซึ่ง มรรค ๘ ข้อนี้เป็นกรอบของการปฏิบัติที่ดีเพื่อให้ถึงการดับทุกข์ที่แท้จริง การทำความดีให้ถึงพร้อมก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์



มรรค ๘ ประกอบด้วย (ข้าพเจ้าขอกล่าวสรุปคร่าวๆ เพื่อความเข้าใจ) “สำคัญมากที่สุด”

๑ สัมมาทิฏฐิ หรือ การเห็นชอบ หรือ การที่เราเห็นในทางที่ถูก ในทางที่เป็นจริงตามธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ทั้งตัวของเราเอง, ผู้อื่น, และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น การที่เรารู้และเข้าใจว่าสิ่งนั้นถูกหรือไม่ถูก, ใช่หรือไม่ใช่, ดีหรือไม่ดี, เป็นทุกข์หรือเป็นสุข, เป็นโทษหรือเป็นประโยชน์, แน่นอน หรือ ไม่แน่นอน, มี หรือ ไม่มี, ทำให้เกิดทุกข์หรือทำให้เกิดการดับทุกข์, ฯลฯ

โดยเป็นการเห็นจริง ไปตามธรรมชาติของสิ่งนั้นโดยไม่ได้มีการบิดเบือน และมองเห็นจริงตามอริยสัจ ๔ (ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค) เพื่อให้เกิดการดับทุกข์โดยแก้สาเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง

๒ สัมมาสังกัปปะ หรือ การดำริชอบ หรือ การคิดไตร่ตรองทบทวนในทางที่ถูก ที่ดี ที่เป็นจริง และเพื่อให้เกิดผลที่ดีและไม่ก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเอง, ผู้อื่น, และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น คิดวิเคราะห์ทบทวนในอริยสัจ ๔ ในสิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ (ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค) เพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น และเพื่อแก้ไขสาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้จริงๆ, และ เพื่อให้อยู่ในสิ่งที่ดี, เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ที่ดี หรือ ผลที่ดี, เพื่อให้เกิดการกระทำที่ดี, เพื่อให้เกิดความสบายใจไม่จองเวรผูกใจเจ็บอยากแก้แค้นและหวังปองร้าย(พยาบาท), เพื่อให้เกิดการไม่เบียดเบียน(มีศีล), และเพื่อการละจากกิเลสตัณหาทั้งปวง ฯลฯ

ข้าพเจ้าคิดว่าที่ต้องคิดไตร่ตรองทบทวน เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ลืมได้ และ ที่ต้องทบทวนก็เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้เข้าใจมากขึ้น และเพื่อให้จำได้ ธรรมะที่ยังไม่เข้าใจก็จะได้เข้าใจ ส่วนธรรมะที่เข้าใจแล้วก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้นและก็จะเข้าใจกระจ่างแจ้งชัดยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

๓ สัมมาวาจา หรือ การเจรจาชอบ เป็นการพูดที่ดี และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเอง, ผู้อื่น, และ สิ่งต่าง ๆ รอบตัว (มีสัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ) เช่น การมีศีล ข้อ๔ คือ ไม่พูดจาที่ไม่ดี (การพูดเท็จ, ส่อเสียด, หยาบคาย, เพ้อเจ้อ)ทำให้ผู้อื่นและตนเองรู้สึกแย่ และจะต้องรู้จักการใช้คำพูดที่ดีให้เป็น พูดให้เพราะ พูดให้อ่อนหวาน และ พูดให้ถูกกาลเทศะ(ปิยวาจา) ฯลฯ

๔ สัมมากัมมันตะ หรือ การกระทำชอบ เป็นการกระทำที่ดี และ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนเอง, ผู้อื่น, และ สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น การมีศีล ข้อ ๑,๒,๓,๕ คือ ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น, ไม่กระทำการทำไม่ดีของสิ่งของของผู้อื่น เช่นการขโมย ทำลาย, ไม่ประพฤติผิดทางการมีเพศสัมพันธุ์, ไม่เสพสิ่งมึนเมาต่าง ๆ จนขาดสติ นอกจากนี้ การกระทำชอบนั้น รวมถึงการประพฤติปฏิบัติตัวที่ดีในทุก ๆ ด้าน เช่น เป็นคนมีน้ำใจรู้จักให้ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว(ทาน)และช่วยเหลือผู้อื่น, รู้ถึงการวางตัว การประพฤติตัวให้เหมาะสมแก่กาลเทศะ ฯลฯ

๕ สัมมาอาชีวะ หรือ การเลี้ยงชีพชอบ เป็นอาชีพที่สุจริต ที่ดี และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ทั้งตนเอง ,ผู้อื่น, และสิ่งต่างๆ รอบตัว คือ เป็นอาชีพที่อยู่ใน สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
ขอยกตัวอย่างอาชีพที่ไม่ดี เช่น ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้ายาพิษ ค้ายาเสพย์ติด โจร ขโมย ฉ้อโกง ทั้งหลาย ฯลฯ

ปล. จะสังเกตได้ว่าอาชีพที่ดีจะต้องอยู่ในสัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ ขอให้อ่านย้อนกลับไปที่สัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะ

ปล. การประกอบอาชีพทุกอาชีพ อาจจะมีการกระทำการที่ผิดต่อ สัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะบ้างในบางครั้ง อย่างเช่น นักกีฬาแข่งกีฬา ก็มีการชนกันบ้าง เกิดการบาดเจ็บกันบ้างเนื่องจากการชนกัน นักกีฬามิได้มีเจตนาในการทำร้ายกัน เพียงแต่เพื่อการแข่งขัน ก็อาจจะมีการโกรธเคืองกันบ้าง แต่ก็ไม่โกรธกันมาก

ปล. กรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำโดยไม่ได้เจตนา จะถือว่าเป็นกรรมเบา แต่ก็ยังเป็นกรรมอยู่

๖ สัมมาวายามะ หรือ การมีความเพียรชอบ หรือ การมีความพอใจชื่นชอบปรารถนาพยายามบากบั่นอย่างแรงกล้าไม่มีการเลิกล้มและท้อถอย จนกว่าจะเกิดผลสำเร็จ ในสิ่งที่ดี และ ไม่ก่อความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนเอง ผู้อื่น และสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น มีความเพียรไปโรงเรียนให้ทัน, มีความเพียรอ่านและทำความเข้าใจในตำราเรียนก่อนไปสอบ ฯลฯ

รายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องมีอีกก็ คือ
· จะต้องเพียรไม่ให้เกิดสิ่งที่เรารู้ว่าไม่ดี ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น “ทั้งการกระทำ พูด คิด”
· จะต้องเพียรไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เกิดขึ้นเกิดขึ้นอีก “ทั้งการกระทำ พูด คิด” เพราะบางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง(เป็นการเรียนรู้จากการกระทำที่ไม่ดีของเราเอง)
· จะต้องเพียรหาทางป้องกันไม่ให้สิ่งที่ไม่ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือ ว่าเกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เกิดขึ้น “ทั้งการกระทำ พูด คิด”
· จะต้องเพียรเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี ๆ ที่ยังไม่บังเกิดขึ้น ให้บังเกิดขึ้น “ทั้งการกระทำ พูด คิด”
· จะต้องเพียรเพื่อป้องกันให้สิ่งที่ดี ๆ ที่มีอยู่หรือที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เลือนหาย และ เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น “ทั้งการกระทำ พูด คิด”

๗ สัมมาสติ หรือ การมีความระลึกชอบ หรือ เป็นการคิดในสิ่งที่ดี และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเอง, ผู้อื่น, และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น การคิดเมนูอาหารเย็นเพื่อทุกคนในครอบครัว, การคิดขณะอ่านหนังสือเพื่อความเข้าใจ ฯลฯ

ปล. “จากพระไตรปิฎก” สัมมาสติ จะต้องมีสัมปชัญญะ(ความรู้สึกในขณะที่คิดอยู่) และความเพียร (สัมมาวายามะ) ในการใช้คิดพิจารณาเกี่ยวกับ สติปัฏฐาน ๔ (กาย, เวทนา, จิต, ธรรม) เพื่อกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกที่เรามีให้พินาจสิ้นไป (กำจัดสังโยชน์ทั้งหมด)

ปล. อภิชฌา [อะ-พิด-ชา] แปลว่า ความโลภ, ความอยากได้, ตัณหา.
โทมนัส [โทมมะ-นัส] แปลว่า ความเสียใจ, ความเป็นทุกข์ใจ.

๘ สัมมาสมาธิ หรือ การมีใจตั้งมั่นชอบ หรือ เป็นการให้ความสนใจและใส่ใจในสิ่งที่ดี และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเอง, ผู้อื่น, และสิ่งต่าง ๆรอบตัว เช่น ให้ความสนใจในการอ่านหนังสือเรียน, ให้ความสนใจในการทำงานที่มีให้ดี ฯลฯ

สัมมาสมาธิ หรือ การให้ความสนใจในทางที่ดี “จากพระไตรปิฎก” คือ ต้องให้ความสนใจใน ๗ อย่างก็คือ สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, และ สัมมาสติ

สรุป

จะสังเกตได้ว่ามรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ล้วนประกอบด้วยสัมมา หรือ ชอบ ซื่งหมายความว่า เป็นการกระทำ การพูด การคิด ในด้านบวก ในด้านที่สร้างสรรค์ ในด้านที่สันติ ในด้านที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นด้านที่ทำแล้วเกิดความสบายใจ ในด้านที่ทำให้เกิดความสุข ในด้านที่ดี และที่สำคัญเป็นด้านที่ทำให้ถึงความสงบและหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง มรรค ๘ ข้อนี้เป็นกรอบของการปฏิบัติที่ดีเพื่อให้ถึงการดับทุกข์ที่แท้จริง การทำความดีให้ถึงพร้อมก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัจไว้ว่า “ก็กัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้ในบัดนี้ ซึ่งเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว นั้นเป็นไฉน? คือ มรรคมีองค์ ๘ เป็นอริยะนี้แล”


ตัวอย่าง การใช้ อุปกรณ์ที่เรามีในการคิด (สมาธิ สติ กับ สัมปชัญญะ) และ วิธีในการคิดโดยใช้ อริยสัจ ๔

การที่เราจะวิเคราะห์ว่าสิ่งไหนคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ หรือ มรรค ได้นั้น เราจะต้องใช้ สมาธิ สติ และสัมปชัญญะ คิดหาออกมาทีละอัน

๑ (ทุกข์) ขั้นตอนแรก เราต้องหาว่าอะไรคือทุกข์ หรือปัญหาของเราก่อนโดยการให้ความสนใจ(สมาธิ)ไปที่ตัวของเราของเราโดยใช้ความคิดและรู้สึก(สติกับสัมปชัญญะ) คิดและค้นหาในตัวเราเองว่าสิ่งใหนเป็นทุกข์ในตัวเราก่อน “ตัวของเราเองจะรู้ดีกว่าใครๆ” และการค้นหาจะเกิดขึ้นลึกและละเอียดอ่านลงไปในจิตเรื่อย ๆ ที่ละขั้นที่ละตอน หรือ เป็นอย่าง ๆ ไป “Step by Step”

ตัวอย่างง่าย ๆ (ใบไม้หนึ่งใบกลางป่าใหญ่) เช่น สอบตก เป็นทุกข์หรือ เป็นปัญหาของเรา เมื่อเราหาปัญหาเจอแล้ว ต่อไป

๒ (สมุทัย) ขั้นตอนที่สอง เราต้องค้นหาว่าสิ่งใดคือสาเหตุแห่งทุกข์หรือสาเหตุแห่งปัญหาที่ทำให้เราเกิดทุกข์ขึ้นมา โดยให้ความสนใจ(สมาธิ)ไปที่การหาสาเหตุของปัญหา และใช้ความคิดความรู้สึก(สติกับสัมปชัญญะ) พิจารณาหาสาเหตุแห่งปัญหา ซึ่งสาเหตุแห่งปัญหาอาจมีมากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้

สมุทัยเป็นสิ่งที่ยากกว่าการมองค้นหาทุกข์ในตัวของเราเอง เพราะบางครั้งเราก็ไม่สามารถมองเห็นสาเหตุของปัญหาหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ในตัวของเราได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาหรือทุกข์อีกอัน ที่เราจะต้องใช้สมาธิ สติ กับ สัมปชัญญะ วิเคราะห์แจกแจงโดย อริยสัจ ๔ เพื่อค้นหาวิธีในการแก้ไขปัญหาหรือค้นหาสาเหตุของปัญหาที่เรายังไม่รู้ต่อไป และ ธรรมะต่าง ๆ ก็จะเริ่มแตกแขนงออกมาเองโดยอัตโนมัติจากการใช้อริยสัจ ๔ ในการวิเคราะห์ และหาทางแก้ไขปัญหา

ตัวอย่างต่อเนื่องอย่างง่าย ๆ เช่น การไม่อ่านหนังสือไปสอบทำให้สอบตก, การไม่ตั้งใจเรียนในห้องทำให้สอบตก, ไม่ไปโรงเรียนฟังอาจารย์สอนทำให้สอบตก, อ่านหนังสือแล้วไปสอบก็ยังสอบตก เป็นต้น

๓ (นิโรธ) ขั้นตอนที่สาม เราต้องหาความดับทุกข์ หรือ หาทางแก้ไขปัญหา โดยให้ความสนใจ(สมาธิ)ไปที่การหาวิธีการในการแก้ไขปัญหา และใช้ความคิดความรู้สึก (สติกับสัมปชัญญะ) พิจารณาหาความดับทุกข์ หรือ หาวิธีการในการแก้ไขสาเหตุของทุกข์หรือสาเหตุของปัญหา ซึ่งวิธีการในการแก้ไขปัญหาอาจมีมากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้

นิโรธเป็นสิ่งที่ยากพอๆกับสมุทัยถึงมากกว่า เพราะในบางครั้งเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าวิธีการใดคือวิธีการในการแก้ไขสาเหตุของปัญหา และในบางครั้งวิธีในการแก้ไขสาเหตุของปัญหาที่เรามีนั้น ก็อาจจะไม่ใช่วิธีที่สามารถแก้ไขสาเหตุของปัญหาที่ใช่วิธีการของเรา (ที่เราก็ยังไม่รู้เพราะว่าเรายังไม่ได้ลองทำดู(มรรค))

ตัวอย่างต่อเนื่องอย่างง่าย ๆ เช่น อ่านหนังสือมาก ๆ, ไปติวกับเพื่อน, ฝึกทำโจทย์ปัญหาเยอะ ๆ, ไม่เข้าใจก็เข้าไปถามอาจารย์ เป็นต้น

๔ (มรรค) ขั้นตอนสุดท้าย ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือการนำวิธีการแก้ไขปัญหาที่เราคิดได้(นิโรธ) มาปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์ว่า วิธีที่แก้ปัญหานั้นสามารถแก้ปัญหาได้จริงและเหมาะกับเรา โดยการให้ความสนใจ(สมาธิ)นำวิธีการแก้ไขปัญหามาปฏิบัติใช้ในชีวิตจริง ซึ่งเราต้องมีความคิดระลึกรู้ได้และความรู้สึก (สติกับสัมปชัญญะ)ในขณะที่เราลงมือปฏิบัติใช้ด้วย ว่ามันใช้ได้จริงไหม เมื่อเกิดผลที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาหรือที่เราเรียกว่าการดับทุกข์ สิ่งนี้จะถูกเรียกต่อไปว่า ปัญญา

มรรคเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเพราะเป็นการที่นำทฤษฎี(นิโรธ) มาปฏิบัติใช้ และ การปฏิบัติใช้นั้นต้องใช้เวลาในการปฏิบัติก่อนที่เราจะเห็นผลว่าวิธีที่เรานำมาปฏิบัตินั้นส่งผลต่อการดับทุกข์นั้น ๆได้จริง
ปล. สิ่งที่นำมาปฏิบัติใช้นั้น จะต้องอยู่ในกรอบของมรรค ๘ ข้อที่มี

ตัวอย่างต่อเนื่องอย่างง่าย ๆ เช่น หาเวลาว่างอ่านหนังสือ, หาเวลาไปติวกับเพื่อน, เข้าไปถามอาจารย์เมื่อไม่เข้าใจ, ลองทำโจทย์มาก ๆ เพื่อทดสอบความเข้าใจของตัวเอง ฯลฯ (มรรค หรือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา)

ข้อสังเกต การกระทำที่ทำในตัวอย่างที่ข้าพเจ้ายกตัวอย่างให้ดูนั้นจะครอบคลุมอยู่ในมรรค ๘ และล้วนแต่เป็นการกระทำที่ชอบโดยทั้งสิ้น

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฉลาดและเรียนรู้ได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ เราต้องใช้เวลาและความพยายามในการเรียนรู้หนังสือเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ฉันใด มนุษย์ก็ต้องศึกษาและถามตัวเองถึงทุกข์ที่มีและหาวิธีการแก้โดยใช้ความพยายามและเวลา ฉันนั้น


ตารางมองให้เห็นภาพของวิธีการใช้อริยสัจ๔

(อริยสัจ ๔ กับ ๑ ปัญหา)

ทุกข์ หรือ ปัญหา (สอบตก)

สมุทัย : อาจารย์สอนแล้วไม่เข้าใจ, ไม่อ่านหนังสือ, ไม่ไปโรงเรียน, ฯลฯ (สมุทัยที่ยังไม่รู้ เริ่มอริยสัจ ๔อันใหม่)

นิโรธ : ไม่คุยกับเพื่อนเวลาเรียน, ไม่เข้าใจก็ไปถามอาจารย์, ฯลฯ (นิโรธที่เรายังไม่รู้ เริ่มอริยสัจ ๔ อันใหม่)

มรรค : ถามอาจารย์ในห้องเมื่อไม่เข้าใจ, นัดอาจารย์เพื่อไปถามนอกเวลา, ฯลฯ (มรรคที่เรายังไม่รู้ เริ่มอริยสัจ ๔ อันใหม่)




๓ ปัญญา และ หรือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

ปัญญา ในความหมายของพจนานุกรม แปลว่า ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด

ปัญญา ในรูปแบบที่ข้าพเจ้าเข้าใจนั้น คือ ผลที่เกิดจากการที่เรามีความรู้, เข้าใจ, จำได้ และ นำออกมาใช้อีกเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างถ่องแท้ หลังจากที่นำ สมาธิ สติกับสัมปชัญญะ มาใช้พิจารณา อริยสัจ ๔ (ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค) เพื่อให้ถึงการดับทุกข์นั้น ๆ ได้จริงที่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ที่เกิดจากสิ่งรอบ ๆตัว หรือ ว่าทุกข์ที่มีสาเหตุเกิดมาจากใจของคนคนนั้นเอง ในรูปแบบที่เป็นของคนคนนั้น บุคคลที่มีปัญญา จะมีความสุขไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือกับใคร และจะนำพาซึ่งความสุขแก่ตนเองและบุคคลผู้ที่อยู่รอบๆ ตัวในทุกที่ทุกสถาน บุคคลที่มีปัญญา จะมีจิตใจที่เบิกบาน มีความรอบรู้ต่อการวางตัว ต่อการพูด ต่อการเป็นคนดี ต่อการคิดเป็นในตัวของบุคคลคนนั้นเอง บุคคลที่พิจารณาและประพฤติปฏิบัติจนเกิดปัญญาแล้วนั้นจึงมีจิตใจที่เบิกบาน ผ่องใส มีความสุข หรือที่เรียกว่า ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จากผลของการกระทำ การพูด การคิดเป็น


ขอยกตัวอย่างกราฟเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าปัญญาคืออะไร (ปัญญา คือ ผลที่เกิดจากการที่เรามีความรู้, เข้าใจ, จำได้, และนำไปใช้ได้ อย่างถ่องแท้ถึงการนำ สมาธิ สติกับสัมปชัญญะ มาใช้พิจารณา อริยสัจ ๔ เพื่อให้ถึงการดับทุกข์นั้น ๆ ได้จริง ในรูปแบบของคน ๆ นั้น)

ทุกข์ หรือ ปัญหา (สอบตก)

สมุทัย : อาจารย์สอนแล้วไม่เข้าใจ, ไม่อ่านหนังสือ, ไม่ไปโรงเรียน, ฯลฯ (สมุทัยที่ยังไม่รู้ เริ่มอริยสัจ ๔อันใหม่)

นิโรธ : ไม่คุยกับเพื่อนเวลาเรียน, ไม่เข้าใจก็ไปถามอาจารย์, ฯลฯ (นิโรธที่เรายังไม่รู้ เริ่มอริยสัจ ๔ อันใหม่)

มรรค : ถามอาจารย์ในห้องเมื่อไม่เข้าใจ,นัดอาจารย์เพื่อไปถามนอกเวลา, ฯลฯ(มรรคที่เรายังไม่รู้ เริ่มอริยสัจ ๔)

เกิดผล คือการสอบผ่าน หรือแก้ปัญหาทุกข์ที่มีได้



สีแดง คือ ปัญญาที่เกิดในรูปแบบของคน ๆ นั้น ซึ่ง ปัญญาที่เกิด คือ การรู้ถึงขบวนการในการใช้ อริยสัจ ๔ อย่างเข้าใจตั้งแต่ต้น จนจบ, จำได้ และเอามาใช้อีกเมื่อไหร่ก็ได้ ในการแก้ไขปัญหาการสอบตกในรูปแบบของคน ๆ นั้น


ปัญญาที่เกิดจากการคิด พิจารณา โดยใช้ สมาธิ สติกับสัมปชัญญะ พิจารณา อริยสัจ ๔ ก็จะมีมากขึ้น และ ละเอียดอ่อนขึ้น ในการแก้ไขปัญหา(ทุกข์) ธรรมะที่ยังไม่เข้าใจ ก็จะเข้าใจ ที่เข้าใจแล้ว ก็จะเข้าใจกระจ่างแจ้งชัดยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ และจิตก็จะค่อย ๆ เบาบางจากกิเลส และก็จะละกิเลสได้หมดสิ้นในท้ายที่สุด
ข้อแนะนำ

ในบางครั้งท่านอาจจะมองไม่เห็นภาพในการวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาโดยอริยสัจ ๔ และมนุษย์เป็นสัตว์ที่ลืมได้ ขอแนะนำให้ผู้อ่านเขียนปัญหา หรือ ทุกข์ใส่ลงในกระดาษ และ ทำกราฟอริยสัจ ๔ อย่างที่ข้าพเจ้าแสดงให้ดูในข้างต้น เพื่อให้เกิดการมองเห็นภาพรวมและ จะได้นำกลับมาทบทวนได้อีก, จะได้ไม่ลืม, และจะได้จำได้ และที่สำคัญอย่าลืมนำวิธีการปฏิบัติที่ตัวเองหาเจอในการแก้ไขปัญหามาตรวจสอบในมรรค ๘ อีกครั้งก่อนที่จะกระทำ พูด หรือคิด เพราะในบางครั้งวิธีการปฏิบัติของท่านที่สามารถแก้ไขปัญหาได้นั้น ไม่ได้อยู่ในมรรค ๘ ก็อาจจะนำความเดือดร้อนมาให้ผู้อ่านได้อีก (เกิดเป็นทุกข์ซ้ำซ้อน) ก็ขอให้ผู้อ่านทบทวน มรรค ๘ ตรึกตรองในการวิเคราะห์วิธีการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา ท่านก็จะประสบความสำเร็จ มีความสุขในทุกที่ทุกสถาน และจิตของท่านก็จะเดินทางเข้าสู่ โสดาบัน, สกทาคามี, อนาคามี, และ อรหันต์ ได้ ด้วยตัวของท่านเองในที่สุด


เพิ่มเติม

ข้าพเจ้าจะมีการยกตัวอย่าง การใช้สมาธิ สติกับสัมปชัญญะ พิจารณา การใช้อริยสัจ ๔ เพิ่มเติม (รากแก้ว) เพื่อแจกแจก ธรรมะที่พระพุทธองค์สอนอีกมากมาย (รากฝอย) มาใช้ในการแก้ไขปัญหา อีกต่อไป และตัวอย่างที่ข้าพเจ้าจะยกขึ้นมา เช่น การแก้ไขปัญหาที่เกิดในชีวิตประจำวัน, การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากใจของเราเองที่ทำให้เราไม่สบายใจ และ การเดินตัวจิตเข้าสู่นิพพาน ต่อไป “เยอะมาก ๆ”